รู้จัก TFIIC / บทบาทหน้าที่
5/5/2567 20:00:49

    แม้ว่าปัจจุบันความซับซ้อนของตลาดตราสารการเงินของไทยยังไม่มากเท่ากับในสหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป แต่ก็มีบทบาทในภาคเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นในฐานะแหล่งระดมทุนอื่นที่มิใช่สถาบันการเงิน จะเห็นได้จากสัดส่วนของยอดคงค้างตราสารหนี้และตราสารทุนในปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 180 ของ GDP ณ ราคาตลาด เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับที่ประมาณร้อยละ 60 ของ GDP ในปี 2543 หรือเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ดังนั้น การมีข้อมูลเกี่ยวกับตราสารการเงินที่สมบูรณ์จะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน ดังนี้

    ประการแรก การสร้างศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินจะช่วยให้มีรายละเอียดของข้อมูลตราสาร ตั้งแต่ผู้ออกตราสาร ผู้ถือครองตราสาร และตลาดที่ตราสารนั้นออกจำหน่าย ตลอดจนอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารการเงิน องค์ประกอบเหล่านี้มีความสำคัญในการกำกับดูแลสถาบันการเงินในประเทศ ในด้านการประเมินความเสี่ยงด้านการลงทุนในหลักทรัพย์ของสถาบันการเงิน การติดตามธุรกรรม โดยเฉพาะตลาด OTC ที่ทำโดยระบบธนาคารเงา ซึ่งนับวันก็มีความสำคัญในเชิงมูลค่าของธุรกรรมเพิ่มมากขึ้น เป็นการสร้างความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายตราสารการเงินมากยิ่งขึ้น

    ประการที่สอง ศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินจะช่วยสนับสนุนการให้ข้อมูลในภาพกว้าง และความ เชื่อมโยงของการระดมทุน การลงทุนของตลาดการเงินไทยและต่างประเทศ เช่น ตลาดที่ตราสารเสนอขาย ถิ่นที่อยู่ และภาคเศรษฐกิจของผู้ออกและผู้ถือครองตราสาร ซึ่งจะสามารถติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่อาจมีผลกดดันต่อค่าเงิน และติดตามพฤติกรรมการลงทุนของผู้ลงทุน รวมทั้งประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ เช่น ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำหนดนโยบายให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม เพราะข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลจะสามารถ เปรียบเทียบสัดส่วนการเคลื่อนไหวและการกระจุกตัวในการลงทุนจากตลาดต่างๆ ได้ชัดเจน

    ประการที่สาม การรวมศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ข้อมูลตราสารการเงิน โดยในด้านผู้ให้ข้อมูลจะช่วยลดภาระจากเดิมที่จะต้องให้ข้อมูลซ้ำซ้อนกับหลายๆ องค์กรที่กำกับดูแล ส่วนผู้ใช้ข้อมูลที่เป็นองค์กรทำหน้าที่กำกับดูแลตลาดตราสารการเงินจะสามารถใช้ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลที่มีการจัดการคุณภาพข้อมูลมาแล้ว ลดปัญหาความไม่สอดคล้องของข้อมูล

    ประการสุดท้าย สำหรับผู้ร่วมตลาด เช่น นักวิเคราะห์จะสามารถใช้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ ตราสารการเงิน และมีข้อมูลในมุมมองใหม่ๆ ที่ครบถ้วนมากขึ้น ทำให้สามารถนำข้อมูลไปประกอบกับข้อมูลอื่นๆ เพื่อประมวลผลและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องขึ้น “

    ที่มา คัดลอกจาก " สุนทรพจน์ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในพิธีการลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 53 "

Quick Search
ค้นหาจาก: