รู้จัก TFIIC / แนะนำสมาชิกพหุภาคี
4/5/2567 21:57:33

ศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของหน่วยงานพหุภาคี 5 องค์กร เพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลตราสารการเงินที่เพียงพอสามารถติดตามข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์โครงสร้าง และติดตามระดับของการพัฒนาตลาดการเงินของประเทศ ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ในขณะเดียวกันเพื่อให้สามารถติดตามเสถียรภาพความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศได้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนและผู้ร่วมตลาดอื่น

หน่วยงานทั้ง 5 ประกอบด้วย

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ธปท. เป็นหน่วยงานหนึ่งในพหุภาคีที่ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินแห่งประเทศไทย (ศูนย์ข้อมูล) ในการทำหน้าที่ในฐานะธนาคารกลางของประเทศ ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 นั้น ธปท. มีบทบาทที่สำคัญหลายประการ เช่น

  • กำหนดนโยบายการเงิน โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน ในการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจการเงินมหภาค เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายการเงิน
  • เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล และเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
  • ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
  • เป็นผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินตามมาตรฐานสากล ติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจการเงินอันส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศ
  • เป็นผู้จัดทำสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ สถิติการเงิน และสถิติดุลการชำระเงินตามมาตรฐานสากล
  • เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน มีอำนาจหน้าที่ในการให้กู้ยืมเงินหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงิน การเก็บรักษาเงินของสถาบันการเงิน

จากบทบาทหน้าที่ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ธปท. นำข้อมูลตราสารการเงินจากศูนย์ข้อมูลมาเพื่อประโยชน์ในการติดตาม ตรวจสอบ วิเคราะห์ สำหรับกำหนดนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน ควบคุมดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน กำกับดูแลสถาบันการเงินในประเทศไทยในด้านการลงทุนในหลักทรัพย์ และจัดทำข้อมูลสถิติ

ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bot.or.th

กลับสู่ด้านบน

 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ก.ล.ต. เป็นอีกหน่วยงานในพหุภาคีที่ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินแห่งประเทศไทย (ศูนย์ข้อมูล) และเพื่อให้หน้าที่การกำกับและพัฒนาตลาดทุนของประเทศมีประสิทธิภาพ ยุติธรรม โปร่งใส และน่าเชื่อถือ ได้กำหนดหน้าที่หลักในการดำเนินงานขององค์กรไว้ดังนี้

  • พัฒนาตลาดทุนให้เป็นทางเลือกที่มีความสำคัญสำหรับผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน
  • เสริมสร้างระบบและกลไกเพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองและสามารถปกป้องตนเองได้
  • ดูแลรักษาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความมั่นใจ เชื่อถือในกลไกการทำงานของตัวกลาง และองค์กรต่าง ๆ ในตลาดทุน
  • ดำรงความเป็นองค์กรที่ซื่อตรง โปร่งใส เข้าใจธุรกิจ เท่าทันเหตุการณ์ และเป็นผู้รักษากฎหมายที่เข้มงวด และเป็นธรรม

ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุภารกิจในการกำกับและพัฒนาตลาดทุน ก.ล.ต. สามารถนำข้อมูลตราสารการเงินจากศูนย์ข้อมูล เพื่อการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตราสารทางการเงินแก่ผู้ลงทุน ติดตามภาวะการระดมทุนของตราสารการเงินในตลาดทุน การเคลื่อนไหวของราคาและกลุ่มผู้ถือตราสาร และเพื่อการคุ้มครองนักลงทุน โดยกำกับดูแลให้ ผู้ออกตราสารและผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานตามมาตรฐานและหลักธรรมาภิบาล อีกทั้งศึกษาพัฒนาการ และความต้องการของผู้ลงทุนเกี่ยวกับ Product ใหม่

ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  http://www.sec.or.th

กลับสู่ด้านบน

 

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

สบน. เป็นหน่วยงานอีกแห่งหนึ่งในพหุภาคีที่ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินแห่งประเทศไทย (ศูนย์ข้อมูล) เป็นหน่วยงานราชการที่มีเอกภาพในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการหนี้สาธารณะภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ มีหน้าที่สำคัญดังนี้

  • การบริหารจัดการหนี้สาธารณะของประเทศ
  • การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ
  • การบริหารจัดการโครงการลงทุนภาครัฐ
  • การประสานงานและทำความตกลงในระดับนโยบาย จัดทำแผนความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการกับแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ

สบน. ในฐานะผู้ออกตราสารหนี้รัฐบาล สามารถใช้ข้อมูลตราสารการเงินจากศูนย์ข้อมูล ประกอบการวิเคราะห์วางแผนการออกพันธบัตรรัฐบาล และเพื่อกำหนดนโยบายพัฒนาตลาดแรกให้มีประสิทธิภาพ มีอุปทานแก่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.pdmo.go.th

กลับสู่ด้านบน

 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

ตลท. หนึ่งในหน่วยงานพหุภาคีที่ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินแห่งประเทศไทย (ศูนย์ข้อมูล) และมีหน้าที่สำคัญตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ดังนี้

  • เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน และพัฒนาระบบต่างๆ ที่จำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายหลักทรัพย์
  • เป็นสำนักหักบัญชี (Clearing House) ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ นายทะเบียนหลักทรัพย์หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • ดำเนินธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์

เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน และให้ข้อมูลมีความถูกต้อง ครบถ้วน ตลท. สามารถนำข้อมูลตราสารการเงินจากศูนย์ข้อมูล ในส่วนของข้อมูลทะเบียนหลักทรัพย์ และข้อมูลธุรกรรมไปปรับปรุงกระบวนการและเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการรหัสมาตรฐาน (ISIN) ปรับปรุงกระบวนการและเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานภายในองค์กร ซึ่งจะลดขั้นตอนการทำงานที่มีความซ้ำซ้อนได้

ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.set.or.th

กลับสู่ด้านบน

 

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)

ThaiBMA เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในพหุภาคีที่ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินแห่งประเทศไทย (ศูนย์ข้อมูล) ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งเป็นสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ภายใต้มาตรา 230 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มีหน้าที่ดังนี้

  • เป็นองค์กรกำกับดูแลตนเอง (SRO) กำกับดูแลสมาชิกเพื่อให้การประกอบธุรกรรมการค้าตราสารหนี้เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
  • เป็นศูนย์กลางข้อมูลในตลาดตราสารหนี้
  • กำหนดวิธีปฏิบัติและมาตรฐานต่างๆ ของตลาดตราสารหนี้
  • พัฒนาตลาดตราสารหนี้

เพื่อให้การดำเนินงานของ ThaiBMA ในฐานะศูนย์กลางข้อมูลในตลาดตราสารหนี้ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ThaiBMA สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลตราสารการเงินที่นำส่งจากหน่วยงานพหุภาคีอื่นๆ เพื่อเติมเต็มข้อมูลตราสารหนี้ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลส่วนอื่นที่มิได้มาจากการรายงานการซื้อขาย

ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaibma.or.th

กลับสู่ด้านบน
Quick Search
ค้นหาจาก: