รู้จัก TFIIC / ความเป็นมาของศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินแห่งประเทศไทย
17/5/2567 15:42:18

ความเป็นมาของศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินแห่งประเทศไทย

    ปัญหาวิกฤตการเงินของโลกที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด ชี้ชัดว่าการมีระบบข้อมูลตราสารการเงินที่สมบูรณ์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้สามารถติดตาม กำกับดูแล และการแก้ไขปัญหาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่มีการทำธุรกรรมตราสารการเงินข้ามพรมแดน เนื่องจากปัญหาที่ก่อตัวจากปัญหาทางการเงินในประเทศหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในวงกว้าง และทำให้ไม่สามารถทราบขนาดของปัญหาและแนวทางแก้ไขได้ทันกาล และเป็นเหตุให้องค์กรระหว่างประเทศ เช่น BIS, ECB, IMF, World Bank ได้ร่วมมือกันในการกำหนดมาตรฐานในการจัดเก็บข้อมูลระหว่างประเทศ โดย BIS ได้รับเป็นตัวกลางในการประสานงานให้ธนาคารกลางประเทศสมาชิกเป็นผู้รวบรวมและจัดส่งข้อมูลตราสารหนี้ของแต่ละประเทศเพื่อเชื่อมโยงจัดทำเป็นภาพรวม

    ในปัจจุบัน ข้อมูลตราสารการเงินของประเทศไทย มีการเก็บรวบรวมกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลในตราสารแต่ละประเภท ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีการรวบรวมจัดเก็บข้อมูลตราสารการเงินจากแหล่งต่างๆ โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลตราสารหนี้เพื่อติดตามธุรกรรมในตลาดซื้อคืนพันธบัตรภายหลังการปิดตลาดซื้อคืนพันธบัตรที่ ธปท. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และต่อมาได้ขยายขอบเขตการจัดเก็บข้อมูลตราสารการเงิน เพื่อให้สามารถรองรับการวิเคราะห์และติดตามภาพรวมภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศและเพื่อการกำหนดนโยบายด้านการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    ในการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว ธปท. พบว่าข้อมูลตราสารการเงินต้องอาศัยการรวบรวมข้อมูลจากหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต่างๆ มาประกอบกัน เช่น การออกตราสาร การจดทะเบียน การซื้อขายในตลาดรอง การรับฝากและการดูแลรักษาตราสารให้ผู้ถือครอง ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของมาตรฐานข้อมูล นิยามความหมาย และการใช้รหัสอ้างอิง โดยส่วนใหญ่จะกำหนดเป็นมาตรฐานภายในเพื่อการใช้งานของหน่วยงานเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเป็นภาพรวมของประเทศได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ธปท. จึงได้เป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตราสารการเงินของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในการร่วมกันกำหนดมาตรฐานข้อมูลตราสารการเงินของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สามารถเชื่อมโยงกันได้และลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บข้อมูล โดยดำเนินการร่วมกันในรูปของพหุภาคีเพื่อจัดตั้งศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินของประเทศ ซึ่งต่อมา ได้บรรจุไว้เป็นแผนงานหนึ่งในแผนพัฒนาตลาดทุนไทย  โดยเป็นพันธกิจข้อที่ 4 ในหัวข้อ “การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพซึ่งรวมถึงด้านข้อมูล เทคโนโลยี และการกำกับดูแล”

     การดำเนินการเพื่อจัดตั้งศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินแห่งประเทศไทย จัดทำในรูปของโครงการ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการโครงการ (Steering Committee) ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 5 หน่วยงานพหุภาคี ทำหน้าที่กำหนดแนวทางและติดตามความคืบหน้าของโครงการ

    โดยแผนงานและการดำเนินการที่ผ่านมา สรุปโดยสังเขปคือ กำหนดการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินให้แล้วเสร็จภายในปี 2554 และมีการลงนามในบันทึกความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลตราสารการเงินแห่งประเทศไทย (Thailand Financial Instruments Information Center : TFIIC) ระหว่างหน่วยงานพหุภาคีทั้ง 5 แห่งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลตราสารการเงินที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีความถูกต้องและทันการณ์ต่อการใช้งาน ภายใต้การรักษาความลับของข้อมูลและความจำเป็นด้านกฎหมายอย่างเคร่งครัด สามารถแลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ รวมถึงเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตราสารการเงินของประเทศให้อยู่ในแหล่งเดียวกัน ผู้ร่วมตลาดสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เผยแพร่ได้กว้างขวาง และเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของหน่วยงานพหุภาคีที่จะร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบข้อมูลที่สำคัญอีกระบบหนึ่งของประเทศ

Quick Search
ค้นหาจาก: